หลักสูตรนายช่างภาคพื้นดิน

หลักสูตรนายช่างภาคพื้นดิน สาขาวิชาช่างเอวิโอนิกส์

ชื่อหลักสูตร

ภาษาไทย : หลักสูตรนายช่างภาคพื้นดิน สาขาวิชาช่างเอวิโอนิกส์

ภาษาอังกฤษ : Aircraft Maintenance Engineer License (AMEL) Course (Avionic Mechanic – B2)

หมายเหตุ : เป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรฝึกอบรมเฉพาะทางด้านการบิน เทียบเท่าระดับอนุปริญญา

ภาพรวมหลักสูตร

หลักสูตรนายช่างภาคพื้นดิน สาขาวิชาช่างเอวิโอนิกส์ เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency-based Training and Assessment) ที่เป็นไปตามข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติผู้ประจำหน้าที่นายช่างภาคพื้นดินประเภท B2 (Avionics) ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และองค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA) รวมทั้งเป็นหลักสูตรเทียบเท่าระดับอนุปริญญาจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) โดยศึกษาพื้นฐานงานช่างอากาศยาน (Maintenance Practices) ตลอดจนงานด้านการบำรุงรักษาและแก้ไขข้อบกพร่องพื้นฐานของระบบไฟฟ้า (Electrical System) ระบบการสื่อสารและการนำทาง (Communication / Navigation System) ระบบเครื่องวัดประกอบการบิน (Instrument System) และระบบเอวิโอนิกส์ (Avionic System) ของระบบอากาศยานและเครื่องยนต์ ครอบคลุมทั้งอากาศยานแบบเครื่องบิน (Aeroplane) และเฮลิคอปเตอร์ (Helicopter) เน้นความสำคัญในการสร้างสมรรถนะที่จำเป็นของช่างเอวิโอนิกส์ ทั้งภาคความรู้ (Knowledge) และทักษะ (Skills) ที่สามารถนำไปปฏิบัติงานได้จริง รวมทั้งปลูกฝังทัศนคติ (Attitudes) ในการปฏิบัติงานซ่อมบำรุงภายใต้ความปลอดภัยและเป็นไปตามมาตรฐานด้านการบินอีกด้วย

ระยะเวลาเรียน  :  2 ปี 4 เดือน (7 ภาคการศึกษา)

การจัดการศึกษา  : 153 หน่วยกิต

คุณสมบัติเข้าศึกษา

  • สำเร็จการศึกษา หรือ กำลังศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า ทุกแผนการเรียน
  • สำเร็จการศึกษา หรือ กำลังศึกษาชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปีสุดท้าย หรือเทียบเท่าทางด้านช่างทุกสาขา

หมายเหตุ : คุณสมบัติเพิ่มเติมในแต่ละรอบการรับสมัคร สามารถติดตามได้จากประกาศรายละเอียดคุณสมบัติเฉพาะผู้สมัคร และ เกณฑ์การรับสมัคร

โอกาสในการทำงาน

ภาคอุตสาหกรรมการบิน

  • ช่างเอวิโอนิกส์ (Avionic Mechanic) ในหน่วยงานที่ได้รับการรับรองหน่วยซ่อมบำรุงอากาศยาน (Approved Maintenance Organization : Part-145) ทั้งภาครัฐและเอกชน
  • ช่างเอวิโอนิกส์ แผนกซ่อมบำรุงอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อากาศยาน (Avionic Shop Technician) ในหน่วยการที่ได้รับการรับรองซ่อมบำรุงอุปกรณ์อากาศยาน (Component Maintenance) ทั้งภาครัฐและเอกชน
  • เจ้าหน้าที่สนับสนุนการซ่อมบำรุงในหน่วยซ่อมบำรุงอากาศยาน ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ เจ้าหน้าที่วางแผนการซ่อมบำรุง (Maintenance Planner) เจ้าหน้าที่บริการทางเทคนิค (Technical Service Officer) เจ้าหน้าที่ประกันคุณภาพ (Quality Assurance Officer) เจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยในการซ่อมบำรุง (Safety Officer) เจ้าหน้าที่พัสดุและบริภัณฑ์อากาศยาน (Store Personnel) เป็นต้น
  • ช่างเอวิโอนิกส์ หรือ ช่างอิเล็กทรอนิกส์การบิน หรือ ช่างไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์การบินในหน่วยงานรัฐ ที่ใช้อากาศยานในภารกิจต่าง ๆ ทั้งเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ (State Aircrafts)
  • ช่างซ่อมบำรุงอากาศยานไร้คนขับ (Drone Maintenance Technician) ในหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน

ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจการค้า

  • ช่างซ่อมบำรุงอุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องวัด (Electrical and Instrument Technician) ในบริษัทขุดเจาะและผลิตน้ำมัน รวมทั้งโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป
  • ช่างเทคนิคระบบราง (Railway Technician) หรือ ช่างเทคนิคระบบอาณัติสัญญาณ (Railway Signaling Technician) หรือ ช่างเทคนิคระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ (Automatic Fare Collection Technician) ในอุตสาหกรรมระบบราง 

โอกาสในการศึกษาต่อ

  • ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถศึกษาต่อยอดไปสู่ระดับปริญญาตรีได้ โดยสามารถศึกษาหลักสูตรปริญญาตรีเทียบโอน เพิ่มเติมเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปีหลังจากสำเร็จการศึกษาหลักสูตรนายช่างภาคพื้นดิน

ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรโดยประมาณ 210,000 บาท